มะคาเดเมียนัต (Macadamia) ในโลกนี้มีอยู่ 10 ชนิด หรือ species และ 6 ชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศออสเตรเลีย หนึ่งชนิด พบที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และอีก 3 ชนิด พบอยู่ที่เกาะนิวคาลิโดเนีย ในแถบเดียวกับประเทศปาปัวนิวกินี ชนิดที่ใช้บริโภคได้มีเพียง 2 ชนิด ที่พบอยู่ในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น โดยชนิดแรกมีผิวกะลาเรียบ ส่วนชนิดที่สองมีผิวกะลาหยาบขรุขระ ในปี พ.ศ. 2424 มีชายหนุ่มชาวสก็อตแลนด์ได้นำมะคาเดเมียนัตชนิดผิวกะลาเรียบไปพัฒนาพันธุ์ที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 เริ่มมีการปลูกมะคาเดเมียนัตเพื่อเป็นการค้าในออสเตรเลีย ในปี 2527 กรมวิชาการเกษตร ได้นำกิ่งพันธุ์และเมล็ดมะคาเดเมียนัต จำนวน 8 สายพันธุ์ จากรัฐฮาวาย ไปทดลองปลูกที่สถานีเกษตรที่สูงวาวี จังหวัดเชียงราย ,สถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง จ.เชียงใหม่ และสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ จ.เลย ปัจจุบันสถานีทดลองทั้ง 3 แห่ง สามารถกระจายพันธุ์มะคาเดเมียนัตให้แก่เกษตรกร ได้เฉลี่ยปีละ ประมาณ 40,000 ต้น
ลักษณะนิสัย : มะคาเดเมียนัต ต้องการอุณหภูมิต่ำสุด 9 องศาเซลเซียส และสูงสุดไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส และ ที่ 18 องศาเซลเซียส จะเป็นอุณหภูมิที่กระตุ้นให้มะคาเดเมียนัตออกดอกได้ดีที่สุด แหล่งปลูกที่ให้ผลดีต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือระหว่าง 800-1,300 เมตร นอกจากนี้ยังมีความต้องการน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,00 มม.ต่อปี ในช่วงฤดูแล้ง ต้องให้น้ำบ้าง มอเช่นนั้นผลมะคาเดเมียนัตจะมีขนาดเล็กลง การปลูกไม้เป็นแนวกันลม เช่น สนอินเดีย ไผ่ตง ไผ่รวก จะช่วยลดการฉีกขาดของกิ่งก้านหรือต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมพัดแรงได้ มะคาเดเมียนัตต้องการดินที่สมบูรณ์ และร่วนซุย ระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเป็นด่าง 5.6-6.0 พันธุ์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ พันธุ์นัมเบอร์ 788 มีทรงต้นเป็นพุ่มกลม ใบสีเขียวปานกลาง เมื่ออายุ 10 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 21 กก. ต่อต้น ผลค่อนข้างใหญ่ เฉลี่ย 141 ผลต่อ กก. หลังกระเทาะกะลาออกแล้วได้น้ำหนักเนื้อ 37-40% นิยมใช้วิธีการทาบกิ่งในการขยายพันธุ์
การปลูกและดูแลรักษามะคาเดเมียนัต ระยะปลูกที่แนะนำ คือ 5*10 เมตร จะได้ 32 ต้นต่อไร่ โดยมะคาเดเมียนัตจะให้ผลผลิตดีได้นาน 40-50 ปี ส่วนระยะปลูก 8*12 เมตร ใน 1-3 ปีแรก สามารถใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวปลูกพืลแซมได้ เช่น ถั่วแขก ถั่วพุ่ม และ พืชล้มลุกอื่นๆ เป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง กรณีเป็นที่ลาดชันจำเป็นต้องปลูกเป็นแถวตามแนวระดับ หรือแนวคอนทัวร์ (Contour line) และให้ทำแนวกันไฟทุก 200-300 เมตร ขุดหลุมกว้างและลึก 50 ซม. ตามความเหมาะสม คลุกดิน ด้วยปุ๋ยคอกเก่า อัตราหลุมละ 1-2 บุ้งกี๋ ให้เข้ากัน รองก้นหลุม ด้วยหินฟอสเฟส เกลี่ยดินผสมกลับลงหลุมปลูก นำต้นกล้าที่เพาะในถุงเพาะชำ (ได้จากการตอนกิ่งอายุ 1-2 ปี ) ลงปลูก โดยวางต้นกล้าไว้กลางหลุมแล้วกลบดินให้มีลักษณะพูนขึ้นมาเป็นหลังเต่าเล็กน้อย จากนั้นกดหรือตบดินให้พอแน่น รดน้ำตามทันที ฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการปลูก คือ ฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเมษายน-พฤษภาคม จะเริ่มทำการตัดแต่งทรงพุ่ม ตั้งแต่พืชมีอายุ 8-12 เดือน ให้เกิดความสมดุลสวยงาม ไม่ควรปล่อยให้ทรงพุ่มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หลังปลูกมะคาเดเมียนัต ด้วยกิ่งตอนได้ 1 ปี จะเริ่มติดดอกว แต่เกษตรกรไม่ควรไว้ผลในช่วงอายุเท่านี้ ควรไว้ผลเมื่อพืชมีอายุได้ 4 ปีขึ้นไป จึงจะเริ่มไว้ผล ซึ่งเป็นระยะที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
การติดดอก-ออกผล มะคาเดเมียนัตจะให้ดอก 2 รอบ ต่อ ปี รอบแรก จะออกดอกช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ และ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยดอกจะมีลักษณะเป็นช่อสีขาว ใน 1 ช่อจะมีดอกประมาณ 200 ดอก แต่ด้วยลักษณะนิสัยของมะคาเดียนัต ต่อให้มีดอกมากแค่ไหนก็จะติดผลเพียงแค่ 4 % จากจำนวนดอกทั้งหมดเท่านั้น หลังดอกบานแล้ว 6-11 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
การให้ปุ๋ย ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำแนะนำให้ใช้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 แบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤโละปลายฤดูฝน เมื่อมีอายุ 1 ปี 600 กรัม/ต้น อายุ 2 ปี 1,200 กรัม/ต้นอายุ 3 ปี อัตรา 1,800 กรัม/ต้น และอายุ 4 ปี อัตรา 2,400 กรัม/ต้น หากดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงให้ใส่ปุ๋ยคอกเก่าอัตรา 3-4 บุ้งกี๋ ต่อต้น/ทุกปี เพียงอย่างเดียวก็ได้ เมื่อต้นมะคาเดเมียนัตให้ผลแล้ว ควรเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็น 12-12-12 -2 (ปุ๋ยตัวสุดท้ายคือ แมกนีเซียม ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันในผล)
การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยว อาจยืดยาวออกไป ในแหล่งที่มีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น วิธีเก็บเกี่ยวใช้วิธีเขย่าต้นหรือใช้ไม้ตะขอสอยผลให้ร่วงลงพื้น และรองรับด้วยตาข่ายในล่อน นำผลที่ได้เข้าเครื่องกระเทาะเปลือกนอกแล้วนำไปผึ่งลม 2-3 วัน จากนั้นนำเข้าตู้อบ ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส 1-2 วัน ,ที่ 42 องศาเซลเซียส 1-2 วัน, ที่ 46 องศาเซลเซียส 1-2 วัน ,ที่ 48 องศาเซลเซียส 1-2 วัน และที่ 52 องศาเซลเซียส 1-2 วันจนเหลือความชื้นในเนื้อผลเพียง 1-1.5 % จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องกระเทาะกะลา คัดเลือกเนื้อในผลมาอบเกลือรับประทานเป็นของขบเคี้ยวหรือจะสไลด์บางๆ ไว้ใช้แต่งหน้าเค้ก คุกกี้ เบเกอร์รี่ หรือ ไอศกรีม ก็ช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยได้ดียิ่งขึ้น
ศัตรูที่สำคัญของมะคาเดเมียนัต : ได้แก่ โรคเปื่อยผุ เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง หากระบาดรุนแรงจะทำให้เกิดอาการเดียวกับโรครากเน่า วิธีป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ทำทางระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้น เมื่อมีฝนตก หรือ หลังการให้น้ำ เมื่อพบอาการของโรคให้เฉือนเนื้อไม้บริเวณที่เกิดแผลเปื่อย แล้วทำความสะอาดแผลด้วยน้ำ แล้วทาบาดแผลด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ให้ทั่ว อาการจะทุเลาลงไป และหายดีในที่สุด
แมลงค่อมทอง เป็นแมลงที่เห็นในแปลงเสมอ ทุกระยะการเจริญเติบโต โดยจะเข้ากัดกินใบในระยะแตกใบอ่อน ทำให้ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงลดลง วิธีป้องกันกำจัด แนะให้ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล ตามอัตราแนะนำ การระบาดจะหมดไปในที่สุด