จากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองหลวงเมื่อโดนพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 คุณชยพล กลมกล่อม ก็โดนพิษเศรษฐกิจเช่นกันชีวิตที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จากแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 คุณชยพลจึงหันเหชีวิตมาสู่อาชีพเกษตรทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้หรือทักษะทางการเกษตรเลย เมื่อต้องมาทำเกษตรเป็นอาชีพก็ต้องลองผิดลองถูกเอาเอง คุณชยพลเริ่มชีวิตใหม่ที่อำเภอปากช่องโดยเริ่มปลูกข้าวโพดส่งไร่สุวรรณทำไปแก้ปัญหาไปจนประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวโพด จากนั้นก็เริ่มก้าวเข้ามาสู่การปลูกผัก การเกษตรของคุณชยพล นั้นแตกต่างจากเกษตรกรรายอื่นๆ เพราะเขาใช้การตลาดนำการผลิต ผลิตผักส่งผักขายให้แก่ห้างใหญ่อย่างเทสโก้โลตัส ผักที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คุณชยพลและสวนผักปากช่องคือ กุยช่ายเขียว ,กุยช่ายขาว คื่นช่าย คะน้า กวางตุ้งไต้หวันฯลฯ ความสำเร็จในวันนั้นถูกต่อยอดมาจนถึงวันนี้
การปลูกผักโดยเฉพาะ ผักสลัด ต้นทุนที่หลายคนมองข้ามนั่นคือค่าเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีราคาแพงถ้าคิดเฉลี่ยต่อเมล็ด (ซึ่ง 1 เมล็ดเล็กมาก) ราคาถึง 60 สตางค์เลยทีเดียว เมล็ดพันธุ์เป็นต้นทุนที่ต้องลงทุนทุกรอบการผลิตคือหัวใจของการทำการเกษตร คุณชยพล เล็งเห็นเรื่องนี้มีความสำคัญในอนาคตจึงทำการปลูกผักเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในสวนของตัวเองเพื่อลดต้นทุนเป็นความมั่นคงและยั่งยืนในการผลิตผักของสวนผักปากช่อง
การเก็บเมล็ดพันธุ์ผักสลัด ที่สวนผักปากช่องเริ่มต้นที่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากประเทศฮอลแลนด์มาเป็นตัวตั้งต้นตกเมล็ดละ 60 สตางค์ เมล็ดพันธุ์นี้เป็นแบบออแกนิกสามารถเพาะพันธุ์ต่อได้ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาเพาะในถาดเพาะกล้า 15 วัน เตรียมแปลงปลูกผักสลัด แบบปกติวางระบบน้ำหยดจากนั้นนำกล้าผักลงปลูกรดน้ำตามระบบเช้าเย็น ครั้งละ 1-2 นาที ดูแลจัดการเรื่องหญ้าไม่ให้ขึ้นรบกวนแปลงผัก ให้เชื้อราไตรโครเดอร์ม่ามากับระบบน้ำหยด การปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์จะต้องดูและต้นผักอย่างดี ต้นต้องมีความสมบูรณ์ปล่อยให้ออกดอกแห้งเฉาลงไปในที่สุด เมื่อผักสลัดออกดอกได้เมล็ดแก่จัดจนยืนต้นตายไปจึงเริ่มทำการเก็บต้นออกจากแปลง นำมาย่ำเพื่อให้เมล็ดร่วงหล่นจากนั้นจึงทำการร่อนฝัดคัดแยกเปลือก สิ่งเจือปนออกมาจนเหลือแต่เมล็ดพึ่งลมให้แห้งเก็บบรรจุลงขวดแก้วเพื่อใช้ในการเพาะปลูกครั้งต่อไป